การเห่เรือ


การเห่เรือพระราชพิธี
     การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้งอย่างใหญ่และอย่างน้อย เป็นการพระราชพิธีสำคัญที่มีความเป็นระเบียบแบบแผนตามโบราณราชประเพณี 




รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ทำนองที่ใช้ในการเห่เรือ

     ๑. ช้าละวะเห่ หรือในการเห่เรือเล่น เรียกว่า เห่ช้า เป็นทำนองที่ใช้เริ่มต้นการเห่ มีจังหวะช้าๆ ท่วงทำนองไพเราะ ถือเป็นการให้สัญญาณเริ่มต้นเคลื่อนเรือในกระบวนทุกลำไปพร้อมๆ กันอย่างช้าๆ บทนี้ขึ้นต้นว่า

“เห่เอ๋ย...พระเสด็จ...โดย...แดน (ลูกคู่รับ โดยแดนชล)”

     การเห่ทำนองช้าละวะเห่นี้ ฝีพายจะอยู่ในท่าเตรียมพร้อม จนกระทั่งลูกคู่รับท้ายต้นเสียง จึงเริ่มจังหวะเดินพายจังหวะที่ ๑ บทเห่ที่เป็นตัวอย่างในตอนที่เป็นทำนอง
ช้าละวะเห่ คือ บทที่เป็นกาพย์ยานีบทแรก ในพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ความว่า

“พระเสด็จโดยแดนชล    ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย   พายอ่อนหยับจับงามงอน ”

     ๒. มูลเห่ หรือในการเห่เรือเล่น เรียกว่า เห่เร็ว เป็นการเห่ในจังหวะกระชั้นกระชับ พนักงานนำเห่ แล้วลูกคู่จะรับว่า ชะ...ชะ...ฮ้าไฮ้ และต่อท้ายบทว่า เฮ้ เฮ เฮ เฮ...เห่ เฮ  ฝีพายจะเร่งพายให้เร็วกว่าเดิมตามจังหวะกระทุ้งเส้า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในตำนานเห่เรือว่า มูลเห่ คงหมายความว่า เห่เป็นพื้น ใช้ขณะพายเรือทวนน้ำ ต้องพายหนักแรง จึงพายจังหวะเร็วขึ้น และใช้เห่ทำนองเร็ว มีพลพายรับ “ฮะไฮ้”

     การเห่ทำนองมูลเห่นี้เป็นทำนองที่ใช้ ขณะเดินทางไปเรื่อยๆ เป็นทำนองยืนพื้น พนักงานเห่จะร้องตามบทเห่เป็นทำนอง แล้วฝีพายจะรับตลอด มูลเห่จึงเป็นทำนองที่สนุกสนาน ใช้ประกอบการพายพากระบวนเรือไปจนเกือบถึงที่หมาย บทเห่ที่เป็นตัวอย่างในทำนองมูลเห่ จากกาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ความว่า

 “คชสีห์ทีผาดเผ่น    ดูดั่งเป็นเห็นขบขัน
าชสีห์ที่ยืนยัน           คั่นสองคู่ดูยิ่งยง”

     ๓. สวะเห่ เป็นการเห่เมื่อใกล้จะถึงที่หมาย พนักงานนำเห่และพลพายจะต้องจำทำนองและเนื้อความทำนองสวะเห่ให้แม่น เพราะต้องใช้ปฏิภาณคะเนระยะทาง และใช้เสียงสั้นยาวให้เหมาะแก่สถานการณ์ นับว่าเป็นการเห่ที่ยากที่สุด แต่แสดงความสง่างามของกระบวนเรือได้ดี

     การเห่ทำนองสวะเห่เป็นทำนองเห่ตอนนำเรือเข้าเทียบท่าหรือฉนวน  คือ เมื่อขึ้นทำนองเห่นี้ ก็เป็นสัญญาณว่า ฝีพายจะต้องเก็บพายโดยไม่ต้องสั่งพายลง บทเห่ทำนองนี้ ขึ้นต้นว่า “ช้าแลเรือ” ลูกคู่รับ “เฮ  เฮ  เฮ  เฮโฮ้  เฮโฮ้” วรรคสุดท้ายจบว่า “ศรีชัยแก้ว พ่อเอ๋ย” ลูกคู่รับ “ชัยแก้วพ่ออา” เรือพระที่นั่งก็จะเข้าเทียบท่าพอดี และจบบทเห่

     บทเห่ที่เป็นตัวอย่างของสวะเห่ในปัจจุบัน พันจ่าเอก เขียว  ศุขภูมิ แต่งขึ้นใหม่ เนื่องจากบทสวะเห่ในกาพย์เห่เรือพระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไม่เหมาะสม


วิธีพายเรือให้สัมพันธ์กับการเห่เรือ

     การพายเรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นพระราชพิธีแบบโบราณนั้น มีระเบียบการพายอยู่ ๔ วิธี คือ

     ๑. พายนกบิน เป็นท่าพายที่ยกพายขึ้น พ้นน้ำเป็นมุม ๔๕ องศา ประดุจนกบิน ท่าพายนี้จะใช้กับเรือพระที่นั่งเท่านั้น คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

     ๒. พายพลราบ เป็นท่าการพายโดยไม่ให้พายพ้นกราบเรือ ท่าพายนี้จะใช้กับเรือร่วมในกระบวนทั้งหมด โดยแบ่งการพายเป็น ๔ จังหวะ

     ๓. พายผสม เป็นท่าการพายที่ผสมกัน ระหว่างท่าพายพลราบกับท่าพายนกบิน  มักใช้ตอนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ซึ่งเป็นการพายเรือทวนน้ำ โดยมีวิธีการพาย  คือ พายพลราบ ๒ พาย ต่อด้วยพายนกบินอีก ๑ พาย จึงมักเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พาย ๓ พาย

     ๔. พายธรรมดา เป็นท่าการพายในท่าธรรมดาของการพายเรือโดยทั่วๆ ไป

     มีข้อสังเกตว่า การพายเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เฉพาะเรือพระที่นั่งจะพายท่านกบินเป็นหลัก หากจะเปลี่ยนท่าพายเรือ ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินใดๆ ก็ตามต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนเสมอ

     นอกจากนั้น การจะพายเรือให้พร้อมเพรียงกันได้ทั้งกระบวน ต้องอาศัยผู้ให้สัญญาณต่างๆ ด้วย ได้แก่ สัญญาณเสียงกรับจากเรือพระที่นั่ง และเสียงเส้ากระทุ้งให้เข้าจังหวะการพายจากเรือดั้ง และเรือรูปสัตว์ การเห่เรือจึงมีวิธีการ และขั้นตอนมากมาย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้ที่มีหน้าที่ทุกคน จึงจะประสบความสำเร็จอย่างงดงามได้


แหล่งข้อมูล
http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=30&chap=1&page=t30-1-infodetail05.html

ความคิดเห็น